ภายใต้โจทย์ที่ต้องทำการฟื้นฟูวัดโบราณสถานที่เกือบถูกทิ้งร้างให้กลับคืนมามีชีวิตอีกครั้ง โดยใช้การออกแบบพื้นที่ซึ่งคำนึงถึงการอนุรักษ์โบราณสถานควบคู่ไปกับการพัฒนาวัดในฐานะที่พึ่งทางจิตวิญญาณของชุมชน การทำงานที่ผ่านมาของโครงการฯ จึงเป็นการร่วมกันวางแผนการพัฒนาทางด้านกายภาพไปพร้อม ๆ กับรื้อฟื้นกิจกรรมประเพณีดั้งเดิมของพื้นที่สร้างและพัฒนาเครือข่ายการทำงานในระดับหน่วยงานและเครือข่ายจิตอาสาที่เข้ามาช่วยงานวัด จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ชาวบ้านและชุมชนเกิดความศรัทธาเริ่มกลับเข้าวัดอีกครั้ง การฟื้นประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนมีผลทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คน ทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ เกิดคณะทำงานอนุรักษ์อุโบสถและพัฒนาวัดภูเขาทองในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าอาทิตยาทรกิติคุณ และวัดภูเขาทองได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ ในสัมมนาถกแถลงเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำหลักสูตรด้านการอนุรักษ์โบราณสถานสำหรับผู้ทำงานอนุรักษ์ ซึ่งจัดโดยองค์กรยูเนสโกประเทศไทยร่วมกับกรมศิลปากร
ผลลัพธ์ด้านกายภาพ
๑. วัดเริ่มได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามผังแม่บทแล้วบางส่วน โดยงานผังแม่บท ออกแบบผ่านแนวคิดการเข้าถึงธรรม ภายใต้คติความเชื่อทางด้านพระพุทธศาสนา คือ คติจักรวาล-ไตรภูมิ โดยเชื่อมโยงการเข้าถึงพื้นที่สามส่วนหลัก ๆ ได้แก่ พื้นที่เพื่อการเรียนรู้, พื้นที่สังฆาวาสอันเป็นเสนาสนะอันสงัด, พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเอื้อต่อการบรรลุธรรม ๒. เสนาสนะของวัดมีความทรุดโทรมมาก ในส่วนสังฆาวาสจึงจำเป็นต้องออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยกุฏิและสำนักงานของวัดอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนอาคารศาลาต้อนรับอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากกรมศิลปากร
๓. งานปรับปรุงภูมิทัศน์ มีการจัดทำแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการระดมต้นไม้ภายใต้กิจกรรม “ผ้าป่าต้นไม้” ของโครงการฯ
ผลลัพธ์ด้านกิจกรรม
๑. ร่วมกับวัดและเครือข่ายของวัด จัดกิจกรรมประเพณีดั้งเดิมของพื้นที่ ได้แก่ ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีวันไหว้วัด ซึ่งได้ระบุให้เป็นกิจกรรมประจำของวัด
๒. ริเริ่มกิจกรรม “อาสาพาใจมาอนุรักษ์” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างวัด ชุมชน กรมศิลปากร โครงการวัดบันดาลใจ เครือข่ายพุทธิกาพุทธศาสนาเพื่อสังคม ในการส่งเสริมจิตสำนึกและให้ความรู้ที่ถูกต้องในการทำจิตอาสาในวัดโบราณสถาน
ภาคี
Monday-Friday: 8:00 am to 5:00 pm
วัดภูเขาทอง
1 พฤศจิกายน 2561
